รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม จัดโดยสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้สื่อมวลชนออนไลน์หันมาให้ความสำคัญกับการผลิตข่าวดิจิทัลที่มีคุณภาพมากขึ้น ให้กำลังใจสื่อออนไลน์ นักข่าวดิจิทัล และกองบรรณาธิการข่าวออนไลน์ ที่ให้ความสำคัญในการผลิตข่าวเชิงลึกเพื่อสร้างสรรค์และจรรโลงสังคม อีกทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อออนไลน์
รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2565 (Digital News Excellence Awards 2022)
‘รางวัลชมเชย’ ประเภทข่าวหรือสารคดีออนไลน์เชิงข่าวเชิงสืบสวนยอดเยี่ยม (Investigative News & News Feature)

Investigative: ฉีกหน้ากาก IO เลือกตั้งผู้ว่าฯ แหวกลึกถึง IO การเมืองระดับชาติ
ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ 22 พฤษภาคมนี้ ถือเป็นเดิมพันอันสูงยิ่งในทางการเมือง เราจึงได้เห็นแต่ละกลุ่มการเมืองต่างระดมสรรพกำลังอย่างเต็มกำลังทุกวิถีทางเพื่อคว้าชัยชนะ หนึ่งในนั้นคือการใช้กองกำลังไซเบอร์หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ไอโอ’ (IO)
101 สืบสวนความเคลื่อนไหวของไอโอบนแพลตฟอร์ม Twitter ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ พบ 3 เครือข่าย ซึ่งมีจำนวนบัญชีรวมทั้งสิ้น 447 บัญชี ที่มีพฤติกรรมส่อว่ากำลังร่วมมือกับบัญชีอื่นๆ ทำปฏิบัติข้อมูลข่าวสารเพื่อสนับสนุนหรือโจมตีผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ บางคนอย่างผิดสังเกต และเมื่อสืบค้นลึกลงไปอีก ยังพบว่าหลายบัญชีเชื่อมโยงกับเครือข่ายปฏิบัติการไอโอที่ต้องสงสัยว่ากำลังเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง รวมถึงบุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้บัญชาการตำรวจท่านหนึ่ง
*มีรายชื่อบัญชีต้องสงสัยทั้งหมด 447 บัญชี ให้ดาวน์โหลดได้ที่ท้ายบทความ
………………………………………………………………
“ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของทั้ง 382 บัญชีทวิตเตอร์ หนึ่งความเคลื่อนไหวที่สะดุดตาที่สุดคือหลายบัญชีในกลุ่มนี้โควตทวีต รวมถึงรีพลายจากทวีตหนึ่ง ซึ่งระบุข้อความว่า “กระจ่าง #เลือกอัศวินได้ธรรมนัส” พร้อมแนบภาพประกอบซึ่งแคป (capture) มาจากกล่องความคิดเห็นหนึ่งบนเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ Pantip.com โดยเป็นภาพการโยงใยสายสัมพันธ์ระหว่างอัศวินและ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า”
“101 สืบค้นต่อเข้าไปยังแฮชแท็ก #เลือกอัศวินได้ธรรมนัส จนค้นพบเครือข่ายที่ต้องสงสัยว่ามีพฤติกรรม CIB อีกเครือข่ายหนึ่ง ซึ่งมีอย่างน้อย 51 บัญชีที่กำลังเคลื่อนไหวร่วมกันเพื่อหวังผลในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมื่อตรวจสอบโปรไฟล์ของทั้ง 51 บัญชีนี้ก็พบว่าเกือบทั้งหมดถูกสร้างขึ้นมาในวันเดียวกัน คือวันที่ 9 เมษายน 2022 นั่นแปลว่าเพิ่งเริ่มปฏิบัติการได้เดือนเศษ และแต่ละบัญชียังก็ยังฟอลโลว์กันเองอีกด้วย”
ก่อนหน้าการเคลื่อนไหวในแฮชแท็ก #เลือกอัศวินได้ธรรมนัส ได้ 2 วัน คือวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา 101 ก็สังเกตพบอีกความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของ 51 บัญชีกลุ่มนี้ โดยเป็นทวีตเชียร์ผู้สมัครหมายเลข 3 อย่างสกลธี ซึ่งเกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน โดยมีข้อความแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือล้วนติดแฮชแท็ก #สกลธีเบอร์3 #ผู้ว่ากรุงเทพ และ #ทำทันธี
“ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือบนหน้ากิจกรรมของของกลุ่มนี้ไม่ได้ปรากฏเพียงเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เท่านั้น แต่ยังมีเนื้อหาในเชิงสนับสนุนบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับชาติอยู่ 2 คน คือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา”
“จากการสำรวจความเคลื่อนไหวของการทวีตเนื้อหาเกี่ยวกับประวิตรทั้งหมด 101 ยังสามารถค้นพบจนเจอเพิ่มอีกอย่างน้อย 14 บัญชีที่คล้ายว่ากำลังเคลื่อนไหวร่วมกันในการส่งเสริมภาพลักษณ์ประวิตร พร้อมๆ ไปกับที่พบความเคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ สอดแทรกเข้ามา แต่มีรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ต่างไปจากกลุ่ม 51 บัญชีก่อนหน้า”
“ทวีตที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวิตรที่ปรากฏบนหน้ากิจกรรมของ 14 บัญชีกลุ่มนี้ มักเป็นทวีตเกี่ยวกับภารกิจต่างๆ โดยมักจะตามด้วยแฮชแท็ก เช่น #ลุงป้อมใจดี #รักลุงป้อม และ #สิ่งที่ลุงป้อมทำ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าบัญชีเหล่านี้ไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อโปรโมตประวิตรโดยเฉพาะเจาะจงเพียงคนเดียว เพราะบนหน้ากิจกรรมยังเต็มไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับภารกิจและผลงานของบรรดารัฐมนตรีและนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ โดยบางทวีตมีการติดแฮชแท็กอย่าง #พรรคพลังประชารัฐ #พลังประชารัฐ #พปชร และ #พลังประชารัฐเพื่อประชาชน”
“101 ยังพบว่า ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา บัญชีเหล่านี้ทยอยทวีตเนื้อหาโปรโมตหนึ่งในผู้สมัครอย่างอัศวิน ซึ่งมีทั้งเรื่องการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนระหว่างหาเสียง ผลงานในสมัยเป็นผู้ว่าฯ รวมถึงโควตคำพูดเด็ดจากการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว โดยมีข้อสังเกตคือหลายทวีตใช้ภาพประกอบและข้อความซ้ำกัน แม้จะทวีตคนละวันและเวลากันก็ตาม”
“เรายังไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่าใครหรือองค์กรไหนที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการไอโอในเครือข่ายที่เราค้นพบเหล่านี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นคนไหนหรือองค์กรไหนก็ตาม ก็เป็นที่น่าฉุกคิดว่าการลงทุนของพวกเขาครั้งนี้คุ้มค่าหรือไม่ เพราะสังเกตได้ว่าความเคลื่อนไหวของพวกเขาแทบจะไม่สามารถถูกส่งออกไปถึงผู้คนนอกเครือข่าย เนื้อหาส่วนมากแทบจะไม่ได้รับการโต้ตอบใดๆ หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นการโต้ตอบระหว่างกันของบัญชีเครือข่ายเดียวกันเองเท่านั้น และที่สำคัญ รูปแบบการทำงานที่ดู ‘สุกเอาเผากิน’ ยังทำให้บัญชีเหล่านั้นถูกคนทั่วไปจับสังเกตว่าเป็นบัญชีไอโอได้อย่างง่ายดาย จึงยากที่เชื่อได้ว่าความเห็นพวกนั้นจะโน้มน้าวเปลี่ยนแปลงใจคนได้จริง”
รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2564 (Digital News Excellence Awards 2021)
‘รางวัลดีเด่น’ ประเภทข่าวออนไลน์จากประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ยอดเยี่ยม

‘เส้นด้าย’ กับคำเตือนก่อนสาธารณสุขจะล่มสลาย
โดย วจนา วรรลยางกูร และ เมธิชัย เตียวนะ
“เวลาประมาณนี้แหละ ท้องฟ้าประมาณนี้ เดี๋ยวจะมีคนโทรมา”
อาสาสมัครกลุ่มเส้นด้ายพูดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศครึ้มฝนในช่วงเย็น ไม่ทันขาดคำเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น ปลายสายขอความช่วยเหลือให้เข้าไปดูที่ประชาสงเคราะห์ ซอย 6 เพราะมีคนตายในบ้าน 2 คน และมียายอีกคนที่อยู่กับศพตามา 6 วัน
“เป็นแบบนี้แหละ เวลาแบบนี้แหละ” เขากล่าวก่อนจะรีบจัดเตรียมอุปกรณ์เดินทางไปช่วยเหลือผู้ป่วย
101 ชวนฟังเสียงของ ‘เส้น-ด้าย’ อาสาด่านหน้าสู้โควิด ในภาวะวิกฤตที่ประชาชนต้องช่วยเหลือกันเอง ระบบราชการมีปัญหาอย่างไร ทางออกของวิกฤตนี้อยู่ตรงไหน
“หลายคนบอกกับเส้นด้ายว่าเขาโทรหาเส้นด้ายก่อนโทรหาหน่วยงานของรัฐ”
“ในการจัดการโควิดครั้งนี้รัฐมองว่าแค่รัฐคนเดียวจะทำได้ทุกอย่าง ผมคิดว่ามันเป็นการบริหารจัดการที่ผิดที่ผิดทางและทำให้เราก้าวมาอยู่ที่จุดวิกฤตตอนนี้”
“หลายครั้งเราถูกตำหนิจากหน่วยงานรัฐ เพราะเราไปภายใต้การร้องขอของหน่วยงานหนึ่ง แต่ไปถึงก็โดนอีกหน่วยงานตำหนิว่าเรามาทำไม ทำไมคุณมาแบบนี้ มันผิดขั้นตอน”
‘รางวัลดีเด่น’ ประเภทข่าวออนไลน์ส่งเสริมสังคมยอดเยี่ยม

ยังไม่ทันตั้งไข่ เด็กไทยก็ถูกทอดทิ้งจากรัฐ : เมื่อ ‘เงินอุดหนุนเด็กเล็ก’ ไปไม่ถึงทุกคน
ภาพ เมธิชัย เตียวนะ
“หลังจากยื่นเอกสารเมื่อแรกเกิด รอจนลูกสาวอายุ 9 เดือน แม่เจี๊ยบถึงได้เงินอุดหนุนก้อนแรก แต่ยังไม่ทันดีใจที่มีเงินมาช่วยค่านม ค่าแพมเพิร์ส เพราะเมื่อลูกสาวอายุครบขวบสองเดือน เธอก็ไม่ได้รับเงินอุดหนุนอีกเลย”
“จริงอยู่ที่การเลี้ยงลูกคนหนึ่งย่อมใช้เงินมากกว่า 600 บาท แต่สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ไม่มาก เงินจำนวนนี้อาจทำให้เด็กๆ ได้กินอิ่ม อยู่อิ่ม มีโอกาสเข้าเรียนมากขึ้น กระทั่งได้รับการรักษาที่ดีขึ้น”
“ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่คุ้นเคยกับการ ‘ตกหล่น’ ก่อนจะตั้งไข่ได้เสียอีก”
101 ชวนอ่านเรื่องราวของแม่และลูกเล็กที่สะท้อนให้เห็นความจำเป็นของสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า เพราะนั่นคือเครื่องยืนยันว่าสังคมได้ให้ความสำคัญต่ออนาคตของชาติอย่างแท้จริง
“เมื่อพูดถึงการตกหล่น คนอาจจะมองเพียงเด็กยากจน 1 ใน 3 ที่เข้าไม่ถึงเงินอุดหนุน 600 บาท แต่สำหรับ สุนี ไชยรส แล้ว คำว่า ‘ตกหล่น’ ของเธอครอบคลุมถึงเด็กที่ไม่เคยถูกรัฐพิจารณาว่าควรได้เงินก้อนนั้นเลย”
“นโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า หมายถึงการให้อย่างถ้วนหน้าจริงๆ ไม่จำกัดเรื่องรายได้ เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในสถานะไหนก็ควรได้รับ”
“ไม่ว่าเด็กจะรวยหรือจน มีผู้ปกครองหรือเป็นกำพร้าอยู่ในสถานเลี้ยงเด็ก มีพ่อแม่อยู่ในระบบราชการหรืออยู่ในเรือนจำ เราต้องยอมรับความสำคัญของเด็ก ยอมรับว่าต้องมีสวัสดิการสังคม”
ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world
‘รางวัลยอดเยี่ยม’ ประเภทข่าวออนไลน์ที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอยอดเยี่ยม
ภารกิจในวาระสุดท้าย : การขนร่างผู้เสียชีวิตในยุค COVID-19
โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ เมธิชัย เตียวนะ
“วัดที่เผาศพโควิดยังมีน้อย แต่ผู้เสียชีวิตยังเยอะและเพิ่มขึ้นทุกวัน”
“ต้องแล้วแต่ภาครัฐว่าจะยื่นอะไรเข้ามาช่วยเหลือ มันอยู่ในอก ก็พูดไม่ออกเหมือนกันเพราะตอนนี้เหมือนว่าเราต้องช่วยกันเองแล้ว”
ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโควิดเฉลี่ยวันละ 80 ราย ตอนนี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมแล้วกว่า 2,700 ราย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564) ทำให้เกิดวิกฤตในการจัดการร่างของผู้เสียชีวิตจากโควิด
ภาคเอกชนและประชาชนต้องเข้ามาจัดการขนย้ายร่างผู้เสียชีวิตไปทำพิธีที่วัดด้วยตัวเอง ในขณะที่จำนวนวัดก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับผู้เสียชีวิต ขณะที่สังคมยังคงตั้งคำถามว่าภาครัฐควรเข้ามาจัดการดูแลประชาชนอย่างไรในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้
101 พูดคุยกับ จักรกฤษณ์ แต่งตั้ง ผู้ก่อตั้งโครงการส่งผู้เสียชีวิตฟรีทั่วประเทศ ที่อาสารับภารกิจส่งร่างผู้เสียชีวิตจากโรงพยาบาล-บ้านจนถึงเตาเผาในวาระสุดท้ายของชีวิต
รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2563 (Digital News Excellence Awards 2020)
‘รางวัลชมเชย’ ประเภทข่าวออนไลน์ส่งเสริมสังคมยอดเยี่ยม (Social Development News) ครอบคลุมการนำเสนอข่าวด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และสตรี
50 ปีหลังมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยยังอยู่ที่เดิม
โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ เมธิชัย เตียวนะ
“ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยอยู่กับสังคมไทยมายาวนานและมีมาถึงปัจจุบัน เด็กหลายแสนชีวิตต้องติดอยู่กับกับดักความยากจนและต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา หลายคนไม่มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาที่ดี ไม่มีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ
“สารคดีนี้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตผู้คนที่ยังต้องอยู่กับความทุกข์ความลำบาก เด็กหลายคนต้องอยู่ในบ้านสังกะสี ไม่มีสมาธิเรียนเพราะไม่ได้กินข้าวตั้งแต่เมื่อคืน นี่เป็นเรื่องที่สังคมต้องแก้ไข เพื่อให้ผู้คนมีอนาคตที่ดีขึ้น อยากขอหยิบประโยคปิดท้ายในสารคดีนี้ขึ้นมากล่าวคือ ‘เด็กจะวิ่งเหมือนธนู ถ้ามีพื้นที่ให้วิ่ง’” – ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
‘รางวัลชมเชย’ ประเภทข่าวออนไลน์ที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอยอดเยี่ยม (Video Clip News)
The Mo(nu)ment of Democracy : อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในอนุสาวรีย์
โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, เมธิชัย เตียวนะ และ ชุติกาญจน์ บุญสุทธิ
หากนับตั้งแต่วันก่ออิฐ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันนี้ดำรงอยู่เป็นปีที่ 81 ยืนหยัดท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองในไทยครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นฉากหลังของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พฤษภาฯ 35 พันธมิตรฯ นปช. และ กปปส. ฯลฯ เป็นพื้นที่เรียกร้องความเป็นธรรมของประชาชนจากทั่วทุกหย่อมหญ้า และเป็นวงเวียนที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเคยสัญจรผ่าน
พานรัฐธรรมนูญบนแท่น ผ่านร้อนผ่านฝน ผ่านลมผ่านหนาว ตั้งมั่นอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และเปิดพื้นที่โดยไม่ขวางกั้นว่าคุณอยู่สีไหน มาวันนี้ นาทีนี้ ความเป็นประชาธิปไตยของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยดำเนินมาอย่างไรในห้วงยามที่ประชาธิปไตยไหวเอน
ชวนรับฟังมุมมองผ่านสายตาของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ธิดา ถาวรเศรษฐ และสุริยะใส กตะศิลา พร้อมฉากและเหตุการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2562 (Digital News Excellence Awards 2019)
‘รางวัลยอดเยี่ยม’ ประเภทข่าวออนไลน์ส่งเสริมสังคมยอดเยี่ยม (Social Development News)
มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น
โดย ธิติ มีแต้ม
จากชาวแก๊งสู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร
ถ้าใครสักคนฆ่าคนที่คุณรัก คุณจะทำอย่างไร
เลือดล้างด้วยเลือด? ชีวิตแลกด้วยชีวิต? ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม? ทำใจ? ให้อภัย?
‘รางวัลชมเชย’ ประเภทข่าวออนไลน์ที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอยอดเยี่ยม (Video Clip News)
‘The Deep Sound’
โดย เมธิชัย เตียวนะ
เด็กสามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องเป็นผู้ก่อการร้ายทุกคนหรือไม่? เมธิชัย เตียวนะ พาเข้าไปรู้จักชีวิตคนหนุ่มสาวจากสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ขึ้นมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผ่านเหตุการณ์อันตื่นตระหนกและสะเทือนขวัญจาก ‘คดีน้ำบูดู’ มาเมื่อ 3 ปีก่อน